เมนู

2. ติสสสูตร



ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ



[194] กรุงสาวัตถี ฯลฯ ก็สมัยนั้น ท่านพระติสสะซึ่งเป็น
โอรสของพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้าบอกแก่ภิกษุหลายรูป
อย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้าเป็นดุจภาระอัน
หนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรมทั้งหลาย
ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่
ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และความสงสัยในธรรมทั้งหลาย
ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า.
[195] ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มี-
พระภาคเจ้า
ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านติสสะผู้เป็นโอรสของ
ปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า บอกแก่ภิกษุหลายรูปว่า อาวุโสทั้งหลาย
กายของข้าพเจ้าเป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ แม้ทิศทั้งหลายย่อมไม่
ปรากฏแก่ข้าพเจ้า แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ถีนมิทธะ
ย่อมครอบงำจิตของข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
และความสงสัยในธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ครั้งนั้นแล
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาแล้วรับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุ
เธอจงไปเรียกติสสภิกษุตามคำของเราว่า ท่านติสสะ พระศาสดา
รับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นรับพระดำรัสแล้วเข้าไปหาท่านติสสะถึงที่อยู่
แล้วบอกแก่ท่านติสสะอย่างนี้ว่า ท่านติสสะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน
ท่านพระติสสะรับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง
ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มี-

พระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระติสสะว่า ดูก่อนติสสะ ทราบว่า
เธอได้บอกแก่ภิกษุหลายรูปว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย กายของข้าพเจ้า
เป็นดุจภาระอันหนักโดยแท้ ฯลฯ และความสงสัยในธรรมทั้งหลาย
ย่อมเกิดมีแก่ข้าพเจ้า จริงหรือ ท่านพระติสสะกราบทูลว่า จริงอย่างนั้น
พระเจ้าข้า.
ภ. ดูก่อนติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมบังเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ปราศจาก
ความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย ความเร่าร้อน
ความทะเยอทะยานในรูป เพราะความที่รูปนั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
ใช่ไหม ?
ต. ใช่ พระเจ้าข้า.
ภ. ดีละ. ๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคล
ผู้ไม่ปราศจากความกำหนัดในรูป ดูก่อนติสสะ เธอจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้น
แก่บุคคลผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่
ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยาน ในเวทนา ในสัญญา
ในสังขาร ในวิญญาณ เพราะวิญญาณนั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
ใช่ไหม?
ต. ใช่ พระเจ้าข้า.
ภ. ดีละ ๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้ยัง
ไม่ปราศจากความกำหนัดในวิญญาณ.

[196] ภ. ดูก่อนติสสะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคล
ผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรักใคร่ ความกระหาย
ความเร่าร้อน ความทะเยอทะยานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เพราะความที่วิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ใช่ไหม ?
ต. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ภ. ดีละ ๆ ติสสะ ก็ข้อนี้ย่อมเป็นอย่างนี้ สำหรับบุคคลผู้
ปราศจากความกำหนัดในวิญญาณ ดูก่อนติสสะ เธอจะสำคัญความ
ข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ?
ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ.
ภ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง.
ต. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
ภ. เพราะเหตุนั้นแล ติสสะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่
อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก.
[197] ภ. ดูก่อนติสสะ เปรียบเหมือนมีบุรุษ 2 คน คนหนึ่ง
ไม่ฉลาดในหนทาง คนหนึ่งฉลาดในหนทาง บุรุษคนที่ไม่ฉลาดใน
หนทางนั้น จึงถามทางบุรุษผู้ฉลาดในหนทาง บุรุษผู้ฉลาดในหนทางนั้น
พึงบอกอย่างนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปตามทางนี้แหละ
สักครู่หนึ่ง แล้วจักพบทาง 2 แพร่ง ในทาง 2 แพร่งนั้น ท่านจงละ
ทางซ้ายเสีย ถือเอาทางขวา ไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้วจักพบ
ราวป่าอันทึบ ท่านจงไปตามทางนั้นสักพักหนึ่งแล้วจักพบที่ลุ่มใหญ่มี
เปือกตม จงไปตามทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้วจักพบหนองบึง จงไปตาม
ทางนั้นสักครู่หนึ่งแล้วจักพบภูมิภาคอันราบรื่น ดูก่อนติสสะ เรากระทำ

อุปมานี้แล เพื่อให้เข้าใจเนื้อความ ในข้อนี้มีอธิบายอย่างนี้ คำว่าบุรุษ
ผู้ไม่ฉลาดในหนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งปุถุชน คำว่าบุรุษผู้ฉลาดใน
หนทางนี้แล เป็นชื่อแห่งตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่าทาง
2 แพร่งนี้แล เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา คำว่าทางซ้ายนี้แล เป็นชื่อแห่งมรรค
ผิดอันประกอบด้วยองค์ 8 คือ มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาสมาธิ คำว่า
ทางขวานี้แล เป็นชื่อแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 คือ
สัมมาทิฏฐิฯลฯ สัมมาสมาธิ คำว่าราวป่าอันทึบนี้แล เป็นชื่อแห่ง
อวิชชา คำว่าที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตมนี้แล เป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย
คำว่าหนองบึงนี้แล เป็นชื่อแห่งความโกรธและความคับแค้น คำว่า
ภูมิภาคอันราบรื่นนี้แล เป็นชื่อแห่งนิพพาน เธอจงยินดีเถิด ติสสะ
เธอจงยินดีเถิด ติสสะ ตามโอวาทของเราตามความอนุเคราะห์ของเรา
ตามคำพร่ำสอนของเรา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ท่านพระติสสะปลื้มใจชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนี้แล.
จบ ติสสสูตรที่

อรรถกถาติสสสูตรที่ 2



พึงทราบวินิจฉัยในติสสสูตรที่ 2 ดังต่อไปนี้ :

พระติสสเถระ


บทว่า มธุรกชาโต วิย ความว่า (ร่างกายของผม) ไม่เหมาะ
แก่การงาน (ไม่คล่องตัว) เหมือนเกิดมีภาระหนัก.
บทว่า ทิสาปิ ความว่า ท่านพระติสสะกล่าวว่า แม้ทิศทั้งหลาย
ก็ไม่ปรากฏ คือไม่แจ่มแจ้งแก่ผมอย่างนี้ว่า นี้ทิศตะวันออก นี้ทิศใต้.
บทว่า ธมฺปาปิ มํ น ปฏิภนฺติ ความว่า ท่านพระติสสะกล่าวว่า
แม้ปริยัติธรรมทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏแก่ผม สิ่งที่เรียนได้แล้ว สาธยาย